Financial tools memo
อยู่ดีๆก็สงสัยเรื่องศัพท์ต่างๆในวงการตลาดการเงิน แล้วก็พยายามหาข้อมูลแล้วสรุปตามที่ตัวเองเข้าใจ อาจจะเข้าใจถูกบ้างผิดบ้างแต่ก็จดเอาไว้ว่าตอนนี้เข้าใจแบบนี้
หุ้น, stock, share
คือสัดส่วนความเป็นเจ้าของในบริษัทนึงๆ แบ่งได้หลายประเภท โดยทั่วไปจะเป็นหุ้นสามัญคือมีสิทธิในบริษัทตามสัดส่วนที่ถือ แต่มีหุ้นชนิดพิเศษอีกหลายแบบ เช่นหุ้นที่มีสิทธิรับปันผล แต่ไม่มีสิทธิออกความเห็น
อนุพันธ์, derivatives
คือเครื่องมือทางการเงินใดๆที่เกี่ยวข้องกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเป็นพิเศษ มีหลายชนิด ในบล็อกนี้จะพูดถึงแค่ warrants กับ options
ความสัมพันธ์ของ Derivatives, warrants, options
Options
คืออนุพันธ์รูปแบบหนึ่ง เป็นการทำสัญญาระหว่างนักลงทุนสองฝ่าย เรียกว่าผู้ขายสัญญากับผู้ซื้อสัญญา โดยที่ผู้ซื้อสัญญาจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่ง ณ เวลาทำสัญญาให้ผู้ขาย (เรียกว่าค่า premium) เพื่อแลกกับสัญญาว่า ผู้ซื้อจะมีสิทธิซื้อ/ขาย หุ้นเฉพาะตัวนึงในปริมาณนึงๆ ในราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา ภายในเวลาที่กำหนด
ซึ่งสัญญาดังกล่าวเป็นเพียง”สิทธิ”ที่ไม่ใช่ข้อผูกมัด (ถึงเรียกว่าซื้อ options) ผู้ที่ซื้อสัญญาไปอาจจะไม่ใช้สิทธิดังกล่าวจนหมดเวลาก็ได้ ซึ่งการใช้สิทธิจะเรียกว่าการ exercise options
-
options ที่ให้สิทธิซื้อหุ้นในราคาตามที่ตกลงจะเรียกว่า call options
-
options ที่ให้สิทธิขายหุ้นในราคาตามที่ตกลงจะเรียกว่า put options
Warrants
คือ options รูปแบบหนึ่งที่ผู้ขายสัญญาไม่ใช่นักลงทุนคนอื่น แต่เป็นบริษัทของหุ้นนั้นๆเอง
ทั้ง warrants และ options โดยทั่วไปไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่จะขอใช้สิทธิต้องเป็นผู้ซื้อสัญญาตั้งต้นเท่านั้น ผู้ซื้อสัญญาสามารถนำสิทธิที่ตนมีไปขายต่อให้นักลงทุนคนอื่นๆได้
Long, Short
ทั้งสองคำนี้ไม่ใช่เครื่องมือทางการเงิน แต่เป็นคำที่บอกตำแหน่ง (position) ว่าผู้ลงทุนรายหนึ่งๆ คาดหวังจะทำกำไรกับหุ้นตัวหนึ่งเมื่อราคาหุ้นเปลี่ยนไปอย่างไร
-
ถ้าผู้ลงทุนจะได้กำไรเมื่อราคาหุ้นตก เรียกว่าอยู่ในสถานะ short
-
ถ้าผู้ลงทุนจะได้กำไรเมื่อราคาหุ้นขึ้น เรียกว่าอยู่ในสถานะ long
การทำทั้ง short และ long กับหุ้นตัวหนึ่งๆ ทำได้หลายวิธี การที่ นาย ก บอกว่ากำลังชอร์ตหุ้น A ยังไม่อาจบอกได้ว่านาย ก ใช้วิธีไหน แต่บอกได้แค่ว่าถ้าราคาหุ้น A ตก นาย A จะทำกำไรได้ และถ้าราคาหุ้นไม่เป็นไปตามคาดหวังก็มีสิทธิขาดทุนได้เช่นกัน
ตัวอย่างการ short หุ้น A ด้วยวิธีที่ต่างกัน
- ซื้อ put options ที่กำหนดสิทธิขายในราคาที่สูงกว่า(หรือเท่ากับ)ราคาตลาดในปัจจุบัน
เช่น หุ้น A ราคาปัจจุบันคือ 100 บาท เราซื้อ put options ที่อนุญาตให้เราขายหุ้นที่ราคา 100 บาท ภายในระยะเวลา 3 เดือน
เมื่อราคาตลาดลดลงเหลือหุ้นละ 90 บาท เราก็ซื้อหุ้นที่ราคาตลาดมาและ exercise options เพื่อขายหุ้นที่ราคา 100 บาท ก็จะได้กำไรส่วนต่าง (ก่อนหักค่า premium ที่จ่ายไปแล้วล่วงหน้า)
- ขาย call options ที่กำหนดสิทธิซื้อในราคาที่สูงกว่า(หรือเท่ากับ)ราคาตลาดในปัจจุบัน
เช่น หุ้น A ราคาปัจจุบันคือ 100 บาท เราขาย call options ที่อนุญาตให้ผู้ซื้อสัญญาซื้อหุ้นจากเราที่ราคา 100 บาทภายในระยะเวลา 3 เดือน
ถ้าตลอด 3 เดือน ราคาตลาดไม่เคยขึ้นสูงเกิน 100 บาท ผู้ซื้อสัญญาก็จะไม่ exercise options เราก็จะได้กำไรจากค่า premium ฟรีๆ
ตัวอย่างการ long หุ้น A ด้วยวิธีที่ต่างกัน
- ขาย put options ที่กำหนดสิทธิขายในราคาที่ต่ำกว่า(หรือเท่ากับ)ราคาตลาดในปัจจุบัน
เช่น หุ้น A ราคาปัจจุบันคือ 100 บาท เราขาย put options ที่อนุญาตให้ผู้ซื้อสัญญานำหุ้นมาขายเราที่ราคา 100 บาทภายในระยะเวลา 3 เดือน
ถ้าตลอด 3 เดือน ราคาตลาดไม่เคยลงต่ำกว่า 100 บาท ผู้ซื้อสัญญาก็จะไม่ exercise options เราก็จะได้กำไรจากค่า premium ฟรีๆ
- ซื้อหุ้น A แล้วถือรอราคาขึ้นแล้วขายทิ้งเอากำไรส่วนต่าง
การ short หุ้นทำได้อีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ได้เกิดจาก options ระหว่างนักลงทุน 2 คน แต่เกิดระหว่างนักลงทุน 1 คนและโบรกเกอร์คือการทำ short selling
การทำ short selling คือการที่นักลงทุน”ขอยืม”หุ้นจากโบรกเกอร์ มาขายที่ราคาตลาดปัจจุบัน โดยสัญญาว่าภายในเวลาที่กำหนดไว้ จะนำหุ้นปริมาณเท่ากันมาคืน และจ่ายค่าขอยืมเป็นเงินจำนวนหนึ่ง (เรียกว่า premium เช่นกัน)
ถ้าหุ้นราคาตกจริงๆ นักลงทุนก็จะได้กำไรจากส่วนต่างราคา เพราะหาหุ้นมาคืนได้ในราคาถูก(หลังหัก premium)
โดยทั่วไปโบรกเกอร์จะมีการเรียกหลักประกันจากผู้ทำ short selling เพื่อที่ในกรณีที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น โบรกเกอร์จะยังมั่นใจว่ายังได้หุ้นที่ให้ยืมไปคืนแน่นอน
ถ้าราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจนใกล้มูลค่าของหลักประกัน โบรกเกอร์จะเรียกขอหลักประกันเพิ่มเติม หากหามาไม่ทันในเวลาที่กำหนด โบรกเกอร์จะยึดหลักประกันเพื่อนำไปซื้อหุ้นคืนทันที
Options ไม่ได้เกิดมาเพื่อการพนัน
จากที่อ่านๆมาดูเหมือนเครื่องมือเหล่าจะคล้ายว่าเกิดมาเพื่อให้นักลงทุนมาพนันกันว่าราคาหุ้นในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่จริงๆแล้ว options มีประโยชน์ในแง่การป้องกันความเสี่ยง คล้ายๆกับการซื้อประกัน
เช่น เราลงทุนในหุ้น A ที่ราคา 100 บาทเพื่อหวังว่าในอนาคตราคาจะขึ้น
แต่ถ้าหากราคาตกลงมากๆเราก็อาจจะขาดทุนได้เยอะมากเช่นกัน
ดังนั้นเราจึงซื้อสัญญา put ที่อนุญาตให้เราขายหุ้นที่ราคา 90 บาทไว้เพื่อปกป้องความเสี่ยงตัวเอง
-
หากหุ้น A ขึ้นตามที่เราคาดหวัง เราก็จะได้กำไรตามที่คิดไว้ แต่เสียค่า premium (เหมือนซื้อประกันสุขภาพแต่ไม่ป่วย ไม่ต้องเคลม)
-
หากหุ้น A ราคาตกไปที่ 50 บาท เราก็ไม่ได้ขาดทุนไปครึ่งหนึ่ง เพราะยังใช้สิทธิขายหุ้นที่ราคา 90 บาทได้ ก็จะขาดทุนแค่ 10% (เหมือนทำประกันแล้วป่วย ก็เคลมได้ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาเองทั้งหมด)